Search This Blog

Thursday, January 27, 2011

นครชุม เมืองเศรษฐกิจสร้างสรรค์หรือจะเป็นเมืองที่ทำลายตัวเอง

วันนี้ได้มีโอกาสไปร่วมเสวนา (จริงๆ ไปร่วมฟังมากกว่า) เมืองเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ณ เมืองนครชุม จังหวัดกำแพงเพชร บริเวณคลองสวนหมาก ทีอดีตเคยเป็นคลองที่รัชกาลที่ 6 ได้เสด็จประพาสต้นและพักแรมที่นี่
เมืองนครชุมเป็นเมืองโบราณตั้งแต่อาณาจักรสุโขทัย มีประวัติศาสตร์ชุมชนมายาวนาน 

สำนักงานพาณิชย์จังหวัดกับโครงการเมืองเศรษฐกิจแบบสร้างสรรค์ ได้เลือกเอาเมืองนครชุมเพื่อส่งประกวดเมืองเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ก็เลยจัดการเสวนาครั้งนี้ขึ้นเำำพื่อเตรียมความพร้อมและเืพื่อเปิดเวทีความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้

สถานที่จัดงานได้เลือกเอาบ้านเก่าหลังหนึ่งที่อยู่ริมคลองสวนหมากและอยู่ระหว่างบ้านเก่าหลายหลังติดๆ กัน บรรยากาศในช่วงเย็นพลบค่ำ อากาศกำลังเย็นสบาย ผมเดินถือการ์ดเชิญเดินเข้าไปในงาน เหมือนกันงานวัฒนธรรมทั้งหลาย มีการจัดบรรยากาศให้เป็นย้อนยุค อาหาร ขนมไทยไทย เครื่องดื่มทำจากวัสดุพื้นบ้าน การตั้งโต๊ะเก้าอี้กลางแจ้ง ผมทักทายกับคนรู้จักกันพอประมาณ  ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดที่เป็นประธานในงานก็เดินทางมาถึงและเริ่มดำเนินรายการโดย พาณิชย์จังหวัดเป็นผู้ดำเนินรายการ สนทนากับท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดได้เกริ่นให้ทราบที่มาที่ไป ผมจึงถึงบางอ้อ ว่างานนี้รัฐเข้าไปจัดการใส่แนวความคิดให้กับชุมชน 

ประเด็นที่ผมเป็นห่วง เริ่มเข้ามา ประการที่หนึ่ง ชุมชนที่เคยสงบเงียบ แต่หลายคนอาจมองว่ามันกำลังจะสลายหรือตายไป ได้ถูกกระตุ้นด้วยการปลุกเมืองให้ตื่นรับนักท่องเที่ยวและผู้มาเยีืยน สิ่งที่ผมกำลังกังวลคือ ชุมชนย่านนั้นจะไม่เงียบสงบอีกต่อไป ความเป็นอยู่แบบปกติสุขของผู้คนแถบนั้นกำลังเผชิญหน้ากับกระแสการท่องเที่ยว และสิ่งแปลกปลอมที่เ้ข้ามากับการท่องเที่ยว ซึ่งจะชักนำเอานักลงทุนต่างถิ่นเข้ามาลงทุนและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงและการตอบรับการขยายตัวของระบบทุนนิยมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได

ประเด็นที่สอง ชาวบ้านกำลังเข้าใจผิดระหว่าง การอนุรักษ์และฟื้นฟูอดีตขึ้นมา กับ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ในความหมายของกระทรวงพาณิชย์  รัฐอาจมองว่า มันคือการจะกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ชาวบ้านอาจคิดและเชื่อว่ามันคือการฟื้นอดีตที่เรียกร้องให้คืนกลับมา แต่ผมกำลังจะกังวัลว่า การฟื้นฟูนั้นจะไปติดกับดักของการพัฒนารูปแบบอื่นๆ ที่จะกลับเข้าไปทำลายอดีตโดยสิ้นเชิงเลยก็เป็นได้  ผมยกตัวอย่างอำเภอปาย ที่เปิดเขาต้อนรับนักท่องเที่ยว จนสูญเสียความเป็นตัวตนไป เนื่องจากกลุ่มทุนต่างถิ่นเข้าไป คนท้องถิ่นต้องอพยพออกไป ปัจจุบันในเมืองปายมีแต่คนต่างถิ่นเข้าไปลงทุน มีจำนวน รีสอร์ทเกือบ ห้าพันห้อง มันเป็นปรากฎการณ์ที่ เรียกว่า "Over Supply" ก่อปัญหาความขาดแคลนทรัพยากร และสาธารณูปโภคไม่เพียงพอ เช่น ไฟฟ้าไม่เพียงพอ เป็นต้น  สิ่งเหล่าสูญเสียไปเหล่านี้เมืองปายไม่สามารถเรียกเอากลับคืนมาได้ แต่ผิดกันกับเมืองแม่ฮ่องสอน ที่ยังคงรักษาคุณค่า วัฒนธรรม ความเป็นอยู่ในอดีตไว้ได้ ปฎิเสธความทันสมัย งบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของที่นั่น มีไว้เพื่อการอนุรักษ์ มากกว่าการจะพัฒนาความทันสมัย  คนที่นั่นหวงแหนความเป็นอยู่ และวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมของชาวไตใหญ่ ไว้อย่างเหนียวแ่น่นและมั่นคง 

แนวคิดเรื่องย้อนยุคเป็นกระแสที่เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในขณะนี้ ตั้งแต่เมืองสามชุก ถึงอัพวา และเพลินวาน ผมคิดถึงเมืองโอซาก้าที่ประเทศญี่ปุ่น ที่รัฐบาลท้องถิ่นได้พยายามส่งเสริมและอนุรักษ์ ฟื้นฟู บ้านโบราณ ตลอดจนประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของเมืองไว้ บูรณะบ้านเก่า ให้เงินสนับสนุนเจ้าของบ้านให้ซ่อมแซมบ้านให้ใช้การได้ ซื้อบ้านเก่าของคหบดีที่มีชื่อเสียงในอดีตไว้เป็นพิพิธภัณฑ์ของเมือง และทำแผนที่ท่องเที่ยวให้กับนักท่องเที่ยว  แต่ที่สำคัญการเข้าไปเยี่ยมเยียนหมู่บ้านเหล่านี้ผู้เข้าไปท่องเที่ยวไม่สามารถนำเอาวัฒนธรรมต่างถิ่นเข้าไปได้ แต่ยังต้องเคารพความเป็นอยู่ของหมู่บ้านนั้นด้วย การนำเอาแนวคิดย้อนยุคจากโอซาก้า หรือ สินค้าโอทอปจากเมืองฟูกูโอกะ ไม่ใช่การนำเอาสิ่งที่เห็นมาแต่ต้องเข้าให้ถึงค่านิยมและแนวปฎิบัติที่เป็นที่มาของการอนุรักษ์นั้นด้วย มิฉะนั้นผลที่ได้จะกลายเป็นตัวทำลายอดีตไป  ผมยกตัวอย่างเช่น  เดิมสองฝั่งของคลองสวนหมากเงียบสงบ (น่าจะชอบและน่าจะยั่งยืนในแบบของมัน) เมื่อเข้าสู่โครงการฟื้นฟูจะมีการรณรงค์บ้านเรือนที่อยู่ข้างทางเดินต้องเปิดร้านขายของทั้งโบราณและอาจไม่โบราณ มีการปรับปรุงบ้านบางหลังเพื่อให้จำหน่ายสินค้าได้ เข้าทำนอง เปิดบ้านขายของ  ตอนนี้ละ ความเงียบสงบ จะหายไป 

ผมหวังว่า การตั้งเป้าเพื่อส่งเมืองเข้าประกวดน่าจะไม่ใช่เป้าหมายหลัก แต่ควรจะเป็น ผลพลอยได้ของคิดจะอนุรักษ์และฟื้นฟูอดีตมากกว่า และต้องระมัดระวังอย่าให้กระแสทุนเข้ามาทำลายปัจจุบันและอดีตของเมืองนครชุมได้  กิจกรรมแต่ละอย่างต้องละเอียด ละเมียด พอที่จะไม่ก่อผลตรงกันข้ามหรือทำลายอดีต ระวังเมืองที่น่าอยู่จะกลับกลายเป็นเมืองเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่ทำลายอัตลักษณ์ของตัวเองอย่างรวดเร็ว 

Thursday, January 20, 2011

ห้องสมุดเคลื่อนที่บนรถยนต์ ห้องสมุดคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย

มีโอกาสไปแวะเยี่ยมเยียนลูกชายที่เรียนอยู่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ รั้วจามจุรี สีชมพู พระเกี้ยว นัดเจอกันที่หน้าห้องสมุดของคณะรัฐศาสตร์  มองเข้าไปในห้องสมุดอยากอ่านหนังสือ แต่ก็ขี้เกียจเข้าไป และหากจะเข้าไปใช้ห้องสมุดก็จะต้องเสียค่าธรรมเนียมด้วย อันนี้เป็นเหตุผลสำคัญก็เลยไม่เข้าไปนั่งในห้องสมุด  เหลือมอบเห็นรถตู้ยี่ห้อโตโยต้า ไลท์เอช รุ่นเก่าๆ เพ้นท์สีชมพู สวยงามจอดหน้าห้องสมุด ความโดดเด่นของรถคันนี้คือบนหลังคาตกแต่งเป็นหนังสือหลายเล่มบนหลังคา และสีชมพูที่ตัวรถ  ด้วยความสนใจมองเข้าไปข้างใน จัดเป็นห้องสมุดเล็กๆ มีหน้งสือพอคเก็ตบุุ๊คหลายเล่ม ด้านหลังของรถตู้มีประตูหลัง เปิดออกมา และมีเก้าอี้ตัวเล็กๆ ไว้ให้นั่งด้วย บรรณารักษ์ของที่นั่นเห็นเราสนใจถ่่ายรูปก็มาแนะนำตัวและเล่าให้ฟังว่า รถคันนี้เคลื่อนที่ออกให้บริการประชาชนในชุมชนในกรุงเทพ และได้รับรางวัลด้วย  ผมจำไม่ได้ว่าเป็นรางวัลประเภทอะไร  ชื่นชมพอสมควรนั่งอ่านหนังสือข้างรถตู้ห้องสมุดเคลื่อนที่อยู่พักใหญ่ บุตรชายผมก็มา เลยชักชวนกันไปทานข้าวเย็นกันต่อ