Search This Blog

Monday, July 26, 2010

ตลาดร้อยปี สามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี

ผมและคุณพ่อคุณแม่ชวนกันไปงานแต่งงานของญาติที่อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี จังหวัดที่ในอดีตเคยมีความขัดแย้งกับจังหวัดใกล้เคียงเพียงแค่จังหวัดใหนมีต้นตาลมากกว่ากัน คือจังหวัดเพชรบุรี ปัญหาจบอย่างไรไม่ทราบได้ ว่าจังหวัดใหนจะมีต้นตาลมากกว่ากัน

ออกเดินทางกันราวตีหนึ่งกว่า ง่วง หาว ตอลดทางมาถึงเช้าตรู่ที่จังหวัดราชบุรี  เจ้าภาพกรุณาเลี้ยงอาหารเช้า แต่ผมแอบมาข้างนอก เพื่อหาต้มเลือดหมู ตบด้วยกาแฟโบราณกับนมสดแท้แท้ รสชาดก็นุ่มนวล กลมกล่อมดีครับ  ที่สำคัญราคาถูกมาก 10 บาทครับ แถมน้ำชาร้อนอีกครับ 

ประเพณีของไทย ต้องมีการแห่ขันหมาก ฝ่ายผมเป็นฝ่ายของเจ้าบ่าว ก็ตั้งขบวนกันฝั่งตรงข้ามกับคลองชลประทาน แล้วก็โห่ร้องแห่กันมามีทั้งของหวานของคาว ผมทำหน้าที่ถ่ายรูปด้วย เดินวิ่งดักหน้าดักหลัง ขบวนเพื่อให้ได้ภาพต่างอริยาบทกัน ด้านผู้ใหญ่ของเจ้าสาวก็ออกมาต้อนรับหน้าประตู ครับ ประตูเงินประตูทอง เจ้าบ่าวรู้ตัวดีอยู่แล้วจะต้องผ่านด่านต่างๆ เตรียมของกำนัลมาพร้อมก็ผ่านไปได้เรียบร้อยเข้าพิธีกันต่อไป  ทุกคนก็มีความสุขไปกับเจ้าบ่าวเจ้าสาว 

เมื่อพิธีการเข้ามาเป็นอันที่ผมจะต้องหาทางออกไปขับรถตระเวนดูบ้านเมือง ตามสันดานของพัฒนากรเก่า ก็ออกสำรวจ จนเที่ยงหิว ก็แวะร่านก๋วยเตี๋ยว หมูทุบ สูตรราชบุรี เป็นร้านดัง  ลูกสาวเจ้าของร้านหน้าตาดี สวยมาก กินจนเกลี้ยงชาม ผมชอบร้านนี้นอกจากจะมีเจ้าของร้านหน้าตาดี แล้ว เสียงเพลงในร้านเป็นเพลงสากลเก่าดังมาจากหลังร้าน I don't like to sleep alone  แหมเข้ากันกับอารมณ์ผมเลยละตอนนี้ 

เราอำลาเจ้าภาพและขอกลับก่อน อันที่จริงเจ้าภาพอยากจะให้เราอยู่กินเลี้ยงตอนค่ำที่โรงแรม Royal City ที่กรุงเทพ แต่คงจะไม่ไหว ก็ขอตัวกลับ  ตามเส้นทางสุพรรณบุรี ชัยนาท และนครสวรรค์ ระหว่างทาง คุณแม่อยากแวะเยี่ยมเยียนตลาดร้อยปี ก็ตามใจท่าน พามาเดินเที่ยว ผมเองก็ไม่เคยได้แวะไปเช่นกัน  รู้สึกแปลกใจ และทึ่งมากที่สามชุกสามารถทำเมืองเก่าได้ ซึ่งผมเคยไปที่ญี่ปุ่นมา ในหมู่บ้านวัฒนธรรม แนวความคิดของญี่ปุ่น ก็คือ คนในชนบทเข้าเมืองกันมากและทิ้งบ้านไว้ไม่ดูแล ท้องถิ่นก็พยายามฟื้นฟูเมืองให้กลับมามีชีวิตชีวา ดึงคนหนุ่มสาวให้กลับมาอยู่อาศัยกัน และเอาเสน่ห์ของท้องถิ่นโบราณกลับมาเป็นสิ่งดึดดุดนักท่องเที่ยว สามชุกวันนี้ ย้อนยุคได้ดีมาก และจนกระทั่งได้รับการยกย่องให้เป็น World Heritage ด้านวัฒนธรรม สิ่งดีดีในเมืองไทยและน่ายกย่องต้องขอยกนิ้วให้

ขอแนะนำท่านที่จะเที่ยวในวันเดียวได้หลายอย่างก็ใช้เส้นทางนี้ครับ เที่ยวนครปฐม มาสุพรรณบรี ดูตลาดสามชุด และเที่ยวบึงฉวาก มาชัยนาทดูสวนนก ถึงนครสวรรค์ดูบึงบรเพ็ด วนกลับมาทางอยุธยา ก็ได้ครับ 

Tuesday, July 13, 2010

แจกเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ตามนโยบายของรัฐบาล


นโยบายรัฐบาลประชานิยม ส่งผลให้เงินผู้สูงอายุที่ในอดตีจ่ายผ่านกรมประชาสงเคราะห์ และเมื่อกระจายอำนาจแล้วก็ให้ท้องถิ่นดูแล โดยรัฐบาลกลางอนุมัติเงินจำนวนหนึ่งที่เคยให้กับกรมประชาสงเคราะห์ตามที่มีรายชื่ออยู่เดิมมาให้ และให้รัฐบาลท้องถิ่น สำรวจรายชื่อผู้สูงอายุ 60 ปี ขึ้นไป มาขึ้นทะเบียนรับเงิน  ผู้นำชุมชนแต่ละท่านก็ไปสำรวจมา ปรากฎว่าผู้สูงอายุมีมากกว่า เงินที่รัฐบาลโอนมาให้ รัฐบาลท้องถิ่นก็โวย อ้าวโยนภาระมาให้แล้วไม่ดูแล  แถมยังบอกว่า ส่วนที่ไม่พอให้ท้องถิ่นหางบประมาณที่ไม่ค่อยจะเก็บได้เนี่ยนะ มาจ่าย เมื่อข่าวจะให้เงินผู้สูงอายุกระจายไปแล้ว บางท่านยังไม่เคยได้รับการสงเคราะห์ คนแ่ก่บางท่านก็สงสัยเป็นกำลัง คิดไปไกลขนาด เออ แก่ขนาดนี้แล้วยังจะมาหลอกกันอีกเหรอเนี่ย

รัฐบาลที่มีที่ปรึกษาเยอะแยะมากมาย มีความกังวลใจกับเรื่องนี้มาก นักวิชาการก็ให้คำแนะนำมาว่า จะต้องเป็นรัฐสวัสดิการ (Welfare State)แบบประเทศสวีเดน อะไรทำนองนั้น  อันที่จริงก็พูดกันมานานแล้วนะ ยังไม่ขยับเขยือนกันซะที แต่เอ มันจะเหมือนกันมั้ย ระหว่างเศรษฐีแจกเงิน กับคนจนเป็นหนี้เป็นสิ้นแล้วแจกเงิน
(เงินที่ให้เปล่า ไม่ก่อให้เกิดการลงทุน) มันจะเป็นอย่างไรละคราวนี้ เศรษฐีแจกเงินก็โอเค แต่รัฐบาลที่ยังอยู่ในภาวะงบประมาณขาดดุลเช่นขณะนี้  แจกเงิน อนาคตมันจะไปอย่างไรต่อ

เอาละ สรุปว่านโยบายดีก็แล้วกัน มาถึงคำถามว่าจะเอาเงินมาจากใหนกัน  เหล่าผู้ฉลาดปราดเปรื่องก็ระดมความคิดเห็น (Brain Strom) ว่า เอาเงินอุดหนุนท้องถิ่นมาใช้ละกัน ว่าแล้วก็โอนเงินที่เคยอุดหนุนให้ท้องถิ่นถ่ายเทไปเป็นเงินตามนโยบายของรัฐบาล ท้องถิ่นจะรู้มั้ยในตอนแรก เพิ่งร้องอ้อ เมื่อพบว่าไม่มีเงินอุดหนุนจากรัฐบาลกลางมาตามงวด  อั้ย หยา........

ท้องถิ่นจัดเก็บภาษีด้วยตนเองได้ประมาณร้อยละ 20, 30, ของงบประมาณทั้งหมด นอกนั้นเป็นเงินอุดหนุน ดังนั้นเงินพัฒนาก็ไม่มี ใครเป็นนายกเทศมนตรีช่วงนี้ กลายเป็น "เจ๊กหมดทุน"  เสี่ยงต่อการไม่ได้รับเลือกตั้ง ต้องสงสารกันหน่อยละครับ

ส่วนดีของนโยบายก็ทำให้ผมได้มีโอกาสพบปะ คนชรา ได้แสดงความเป็นห่วงเป็นใย สอบถามสารทุกข์สุกดิบกัน จับมือจับไม้ อบอุ่น ชื่นใจ  แต่ทว่าคำถามสำคัญก็คือ นโยบายนี้จะมีความยั่งยืนหรือไม่ และถ้าจะให้เกิดความยั่งยืน คนสูงอายุมีสวัสดการเช่นนี้ตลอดไป จะต้องสร้างกลไกอะไรบ้าง น่าคิดจริงจริง